สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
- ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา -
..................................................................
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (นามเดิม อัมพร ประสัตถพงศ์ ฉายา อมฺพโร)
..................................................................
เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ความหมายพระนามเต็ม
“สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 ... สำหรับพระนามเต็มของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช”
ในหนังสือพระประวัติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกซึ่งคณะสงฆ์วัดราชบพิธฯ จัดพิมพ์ถวาย ระบุความหมายไว้ว่า
“สมเด็จพระผู้มีญาณสืบมาแต่วงศ์พระอริยเจ้า ทรงเป็นผู้มีธรรมวิธีอันละเอียดอ่อน ทรงเป็นผู้นำพระสงฆ์หมู่ใหญ่ทั้งปวง ทรงเป็นอาจารย์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรม คือ พระไตรปิฎก ปรากฏพระนามฉายาในทางสงฆ์ว่า อมฺพโร
ทรงงดงามในพระศาสนาด้วยทรงพระปรีชากว้างขวางในพระอุดมปาพจน์ คือพระธรรมวินัย ทรงดำรงพระเกียรติโดยปราศจากมลทิน และทรงเป็นครู สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาด้วยเหตุที่ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส ทรงเป็นที่พึ่งผู้แกล้วกล้าและมีพระปรีชาฉลาดเฉลียว ทรงเป็นผู้ยังความเจริญแก่กิจการพระธรรมทูต ทรงเป็นใหญ่ในสงฆ์ทั้งปวง (คือทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช) พระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานสถาปนาในรัชกาลที่ 10 ทรงยังแสงสว่างแห่งแบบอย่างอันดีงามให้บังเกิด โดยเจริญรอยตามสมเด็จพระอุปัชฌาย์ คือ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพของพุทธบริษัท ทรงงดงามในพระวิปัสสนาธุระ ทรงพระศีลาจารวัตรอันไพบูลย์ ทรงเป็นอนุศิษย์ผู้สืบวงศ์สมณะมาแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นเจ้าผู้เจริญในทางธรรม ทรงเป็นราชาแห่งหมู่สงฆ์”.
ความหมายตราสัญลักษณ์ อ อ ป
ของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ย่อมาจาก
อ. (อัมพร) พระนามของพระองค์ ใช้ตัวอักษรเป็นสีแดง วันประสูติ วันอาทิตย์
อ. (อมฺพโร) ฉายาของพระองค์ ใช้ตัวอักษรเป็นสีเหลือง หมายถึง สีอาสนะประจำตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และสีของกาสาวพัสตร์ เป็นสมณคุณ
ป. (ประสัตถพงศ์) นามสกุลของพระองค์ ใช้ตัวอักษรเป็นสีฟ้าเทา เป็นสีประจำจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นชาติภูมิ
ประวัติสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) และแม่กองงานพระธรรมทูต
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2552 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
มีราชทินนามตามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์ วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี อรัณยวาสี”
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ หรือ สมเด็จขาว กรรมการมหาเถรสมาคมและแม่กองงานพระธรรมทูต สิริอายุ 89 พรรษา 68 มีพระนามเดิมว่า “อัมพร ประสัตถพงศ์” เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2470 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ จุลศักราช 1289 ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โยมบิดา-มารดาชื่อ นายนับ และนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย
๐ บรรพชาที่วัดสัตตนารถฯ
ในช่วงวัยเยาว์ เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปีพ.ศ.2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีพระธรรมเสนานี (เงิน นันโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ย้ายไปจำพรรษาที่วัดตรีญาติ ตำบลพงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม, พ.ศ.2483 สอบได้นักธรรมชั้นตรี, พ.ศ.2484 สอบได้นักธรรมชั้นโท, พ.ศ.2486 สอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค, พ.ศ.2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค ต่อมาปีพ.ศ.2490 ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี(ทองเจือ จินตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี พามาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) และให้สามเณรอัมพรเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2491 ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธฯ มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก(วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์, สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ภายหลังอุปสมบท ท่านได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ พ.ศ.2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และพ.ศ.2493 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค
งานปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร, ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต), กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.), กรรมการคณะธรรมยุต, นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.), กรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, แม่กองงานพระธรรมทูต, ประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร นับว่าเป็นศิษย์หลวงปู่ฝั้นที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในปัจจุบัน คือเป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะ, พระอุปัชฌาย์ เป็นต้น
ลำดับสมณศักดิ์
– พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระปริยัติกวี
– พ.ศ.2524 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสารสุธี
– พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเมธาภรณ์
– พ.ศ. 2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเมธาภรณ์
– พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระสาสนโสภณ วิมลญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสาทร ศาสนกิจจานุกร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
– เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2552 เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี” สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 10 รูป
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เอาใจใส่ในกิจการงานของพระอารามหลวงด้วยดีตลอดมา ดังจะเห็นได้จากตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ที่รับภารธุระอยู่ ทุกประการล้วนต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ พร้อมทั้งความตั้งใจจริงอย่างดียิ่ง ได้ทำหน้าที่ในฐานะแห่งนักปกครองที่เอาใจใส่ดูแลความเป็นไปของวัดและคนในวัดอย่างดียิ่ง รวมทั้งท่านยังได้สร้างคุณูปการแด่คณะสงฆ์อย่างมากมาย
ศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในปัจจุบัน คือเป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะ เป็นพระธรรมทูตไปต่างประเทศรุ่นแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุต และเป็นหัวหน้านำพระพุทธศาสนาจากประเทศไทยไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยได้วางรากฐานพระพุทธศาสนาจนมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์ไทยอยู่ประจำ ณ นครซิดนีย์ มาจนถึงปัจจุบัน และได้ขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง เช่น กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูล
http://www.matichon.co.th/news/455668
http://www.thairath.co.th/content/857246
http://www.dailynews.co.th/education/553986
..................................................................
มุทิตาพระสังฆราชองค์ที่ 20
ขอกราบมุทิตา พระมหามุนีวงศ์
ผู้นำคณะสงฆ์ ให้มั่นคงดำรงธรรม
เป็นพระสังฆราช ผู้พาศาสน์ให้เลิศล้ำ
เพียบพร้อมและน้อมนำ คุณธรรมมีมากมาย
อัมพร อมฺพโร ภูมิภิญโญนามกำจาย
ปรีชาเลิศเฉิดฉาย เกียรติเกริกกรายในแดนดิน
สาสนโสภณา เลิศล้ำฟ้ากระแสสินธุ์
ปฐมองค์ทศมินทร์ พระบดินทร์สถาปนา
ขอน้อมศิรเกล้า เพื่อกรานกล่าวด้วยศรัทธา
แด่สังฆราชา มุทิตาจากดวงใจ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ทุกจิตน้อมถวายชัย
ขอพรพระรัตน์ไตร สถิตย์ในพระองค์เทอญ
ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา
#DA ARMY
13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560
#น้องแสนดี
.......................................
177 #มุทิตาพระสังฆราชองค์ที่ 20
.......................................
Cr. น้องแสนดี
ติดตามน้องแสนดีได้ทาง
Facebookhttps://goo.gl/w6Fncz
https://goo.gl/A0w0PJ
Line@
https://goo.gl/7i4OVF
แอดไลน์แสนดีได้ทางลิ้งนี้นะครับ
https://goo.gl/XcZZTi
.......................
คลิ๊ก ย้อนกลับไปที่สารบัญ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น